โซเชียลมีเดีย ‘Like’ หรือ ‘Unlike’ แค่ไหนถึงพอดี

ช่วงนี้ติดงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน ไว้ จะ update ผลงานที่ได้ไปทำมาตลอดช่วง 2 อาทิตย์ วันนี้เห็นบทความที่ดี เลยเอา Share กัน

ที่มา :  อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล
ประธานกรรมการ บริหารบริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด www.thomasidea.com

Like & Unlike
Like & Unlike

ด้วยเสียงผู้บริโภคในโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือยูทูบ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน ในวงการบันเทิง การโฆษณา การเมือง หรือการช่วยเหลือสังคม ทำให้กระแสความต้องการจำนวน “ถูกใจ” หรือ “ผู้ติดตาม” มีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าแบรนด์ใดก็ต้องการจะเพิ่มจำนวนสมาชิกในโซเชียลมีเดียของแบรนด์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีกระแสการต่อต้านเล็กๆ เกิดขึ้น ในกลุ่มพลเมืองดิจิทัลนี้ สำหรับนักการตลาดแล้ว คงจะต้องมองให้เห็นถึงทั้งประโยชน์และข้อควรระวัง ในการบริหารจัดการโซเชียลมีเดีย เพื่อให้แบรนด์สามารถประสานกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

อะไรทำให้คนในสังคมออนไลน์ Unlike และ Unsubscribe

แม้ว่าชุมชนออนไลน์จะดูผิวเผินเหมือนเป็นที่เปิด สำหรับผู้คนที่พร้อมจะแชร์ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ แต่ความที่สังคมออนไลน์มีจังหวะชีพจรที่เหมือนสังคมมนุษย์แท้ๆ ที่มีความลึกในเรื่องส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอาจทำให้หลายคนหันมากั้นอาณาเขตให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคลมากขึ้น รวมถึงต้องการข้อมูลจากแบรนด์ในรูปแบบที่เรียกว่า Permission Marketing คือ ‘อย่าลืมขออนุญาตเพื่อเข้ามาร่วมวงสนทนาและสื่อสารแบรนด์ของคุณ’

ผลการสำรวจโดย เอ็กแซกต์ ทาร์เก็ต (The Social Break-up by Exact Target, USA, 2011) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า 55% ของผู้ใช้เฟซบุ๊คที่กด “ถูกใจ” แบรนด์ กลับกด “เลิกชอบ” ในเวลาต่อมา ส่วนแฟนพันธุ์แท้ 71% บอกว่ามีการเลือกมากขึ้นว่าจะติดตามเฟซบุ๊คขององค์กรหรือแบรนด์ใด และ 11% ของผู้ที่มีเฟซบุ๊ค หยุดใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเจ้านี้ไปเลย อย่างนี้แล้วคงต้องติดตามกันต่อว่า อะไรทำให้คนบนโลกออนไลน์และในโซเชียลเน็ตเวิร์คยกเลิกการเป็นสมาชิก เลิกตาม เลิกเล่น

เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คน “เลิกชอบ” แบรนด์บนเฟซบุ๊ค และเลิกติดตามทวิตเตอร์ จากการสำรวจของ เอ็กแซกต์ ทาร์เก็ต คือ 1. องค์กรโพสต์ข้อมูลถี่เกินไป 2. หน้าแรกอัดแน่นไปด้วยโฆษณาจากแบรนด์ต่างๆ และเกิดความเบื่อที่ต้องคอยลบบางอันออก 3. เนื้อหาซ้ำซากและน่าเบื่อ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆ ตามมา เช่น กด “ถูกใจ” เพียงเพื่อให้ได้ข้อเสนอดีๆ ครั้งเดียว ไม่มีดีลดีๆ หรือองค์กรโพสต์สิ่งที่ไม่มีคุณค่าและไม่มีประโยชน์ เป็นต้น

ความคาดหวังของนักการตลาดต่อโซเชียลมีเดีย

นักการตลาดต้องตั้งเป้าหมาย มีความเข้าใจในการวางกลยุทธ์และนโยบายการบริหารจัดการโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตอบโจทย์ตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยวัตถุประสงค์หลักๆ ที่แบรนด์มักคาดหวังในโซเชียลเน็ตเวิร์คของแบรนด์ สรุปได้ดังนี้

1.เพิ่มจำนวน “ถูกใจ” “ผู้ติดตาม” หรือ “ยอดชม” แบรนด์มักมุ่งการใช้โซเชียลมีเดียไปกับการเพิ่มยอดผู้ติดตาม เพื่อเป็นฐานในการสื่อสารการตลาด และสื่อสารองค์กร แต่ส่วนมากแล้วมักไม่มีแผนชัดเจนในการบริหารจัดการแฟนที่เข้ามา “ถูกใจ” และมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ ทำให้สูญเสียโอกาสในการต่อยอดจากการมีส่วนร่วม สู่การสร้างความสัมพันธ์

2.สร้าง Sales Leads ไม่ว่าจากการให้ข้อมูลโปรโมชั่น จัดกิจกรรมออนไลน์แคมเปญ ให้ข้อมูลสินค้าใหม่ทั้งแบบตรงไปตรงมาและแบบเนียนๆ

3.พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยทั่วไปมักจะมีการบริหารจัดการอยู่ในระดับผิวเผิน ในรูปแบบของการชวนคุย มากกว่าการพัฒนาสู่การบริหารความสัมพันธ์ตามศาสตร์ของการบริหารความสัมพันธ์ กับลูกค้า

4.เพิ่มกลไกสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์ และเนื้อหาที่เกิดโดยผู้ใช้ เช่น การใช้ทวิตเตอร์ ในการทวีตข้อมูลสดของรายการโทรทัศน์อย่าง ‘Survivor’ หรือการใช้ ยูทูบ เป็นวีดิโอแพลตฟอร์มในการทำอินเตอร์แอคทีฟแคมเปญ

จำนวนแฟนแค่ไหนถึงพอดี

หากใช้จำนวน “ถูกใจ” หรือ “เลิกชอบ” เป็นตัววัดเดียวเพื่อดูความสำเร็จของโซเชียลมีเดียคงไม่ได้ ถึงเวลาที่แบรนด์จะต้องทำให้ผู้ติดตามมา “ถูกใจ” แบรนด์อย่างจริงใจ ต้องให้เหตุผลที่ดีที่จะชอบและรักแบรนด์ โดยค้นหาสิ่งที่อยู่ภายในของกลุ่มเป้าหมายบนโซเชียลมีเดียให้ได้ สร้างเนื้อหาและกิจกรรมที่ให้คุณค่าและมีประโยชน์เพื่อเขาเหล่านั้น

จำนวน “ถูกใจ” และ “ผู้ติดตาม” ที่เหมาะสมอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สิ่งที่สมาชิกมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลที่โพสต์ ความถี่และโทนของเนื้อหา ล้วนแต่เป็นตัวบอกความสำเร็จได้ทั้งสิ้น บางแบรนด์ที่มีผู้ติดตามจำนวนหมื่น อาจบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลตอบแทน มากกว่าแบรนด์ที่มีผู้ติดตามจำนวนแสนก็เป็นได้

โซเชียลมีเดียเป็นชุมชนออนไลน์ที่ใช้เวลาเติบโต ทำความรู้จัก และสนิทสนมกัน คงต้องใช้ระยะเวลาพอควรเป็นบทพิสูจน์ความเข้มแข็งของแต่ละชุมชน และค่อยๆ หาจุดพอดี เพื่อให้ทุกๆ “ถูกใจ” เป็นยอดที่ยั่งยืน

เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ดูแลเฟซบุ๊คของแบรนด์ ที่ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของโซเชียลมีเดียทั้งหลายว่า กว่าจะชอบกันนั้นแสนยาก แต่การกดเพียงคลิกเดียวก็ “เลิกชอบ” ได้ทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *